ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่าน หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด โดยเฉพาะในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายพื้นที่ร้อนในระดับที่สามารถทอดไข่ได้โดยไม่ต้องใช้เตา
นักอุตุนิยมวิทยารายงานอุณหภูมิที่สูงเกือบ 45 องศาเซลเซียสในอินเดีย ไทย และเมียนมา และ 42-43 องศาเซลเซียสในบังกลาเทศ ลาว เวียดนาม เนปาล และจีน นี่คืออุณหภูมิที่ประเทศเหล่านี้แทบจะไม่เคยประสบมาเป็นเวลานานหลายทศวรรษ แต่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้
ผลพวงที่เกิดขึ้น ทำให้อัตราการใช้เครื่องปรับอากาศและพัดลมสูงขึ้น ค่าไฟของแทบจะทุกครัวเรือนพุ่งทุบสถิติ หลายคนเลือกหลบร้อนด้วยการไปห้างสรรพสินค้า หรือในบางพื้นที่ ชาวเมืองถึงกับต้องสวดภาวนาขอให้ฝนตก ในขณะเดียวกัน ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ กำลังเสียชีวิตด้วยฮีตสโตรก หลายโรงเรียนต้องสั่งปิดชั่วคราวเพื่อเลี่ยงความร้อน
มักซิมิเลียโน เอร์เรรา นักภูมิอากาศวิทยาและนักประวัติศาสตร์สภาพอากาศ กล่าวว่า “ทวีปนี้กำลังประสบกับคลื่นความร้อนเดือนเมษายนที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ … และมันจะยิ่งแย่ลงไปอีก”
อินเดียเผชิญคลื่นความร้อน ร้อนทะลุ 40 องศา สั่งปิดรร.
แทบละลาย! "บังกลาเทศ" เผชิญอากาศร้อนสุดในรอบ 60 ปี
นี่โลกหรือนรก? หลายประเทศเจออากาศร้อนกว่าค่าเฉลี่ย
นักภูมิอากาศวิทยาและนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความแห้งแล้งอันยาวนานเท่านั้น โดยสถานการณ์น่าจะรุนแรงขึ้นจากปรากฏการณ์สภาพเอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2023 นี้ และเอเชียจะต้องเตรียมพร้อมสำหรับอากาศที่จะร้อนขึ้นในอนาคต
มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 13 คนจากโรคลมแดดในรัฐมหาราษฏระทางตะวันตกของอินเดีย หลังจากเข้าร่วมพิธีมอบรางวัลของรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่ในอัห์มดาบาด เมืองที่มีประชากรมากที่สุดในรัฐคุชราต อากาศร้อนและชื้นมากจนยางมะตอยปูถนนที่เพิ่งปูใหม่ไม่แข็งตัว แต่กลับละลายแทน
ส่วนที่รัฐตริปุระทางตะวันออกเฉียงเหนือและเบงกอลตะวันตกทางตะวันออก ได้สั่งปิดโรงเรียนในสัปดาห์นี้เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส มีคอนเทนต์ครีเอเตอร์หลายคนออกมาทำคอนเทนต์ทอดไข่กลางแดดโดยไม่ต้องใช้เตา
ที่อินโดนีเซียเอง ในเขตปกครองซูโคฮาร์โจ ทางตอนกลางของเกาะชวา ซึ่งเผชิญอุณหภูมิสูงถึง 33 องศาเซลเซียส ก็มีคนทำแบบเดียวกัน โดยใส่ไข่นกกระทาลงในกระทะแล้วปล่อยให้สุกภายใต้แสงแดด บางคนคนก็พยายามต้มน้ำร้อน
ด้านฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอุณหภูมิสูงถึง 37 องศาเซลเซียส เด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเกือบ 150 คนในจังหวัดทางตอนใต้ของกรุงมะนิลาป่วยฮีตสโตรกหลังจากไฟฟ้าดับในโรงเรียน 7 คนหมดสติ และมี 2 คนอาการรุนแรงถึงขั้นต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล
นอกจากนี้ ความต้องการไฟฟ้าที่พุ่งสูงขึ้นทำให้กำลังการใช้ไฟฟ้าในหลายประเทศพุ่งสูงขึ้น จนปรระเทศยากจน เช่น บังกลาเทศ ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ และต้องตัดไฟของประชาชนหลายล้านคน
นักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่า สถานการณ์อุณหภูมิร้อนจัดนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดย เจสัน นิโคลล์ส นักอุตุนิยมวิทยาของ AccuWeather กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ ทำให้คลื่นความร้อนอยู่ได้นานขึ้นและมีความเข้มสูงขึ้น
ด้าน ดร.ฟาฮัด ซาอีด หัวหน้าระดับภูมิภาคด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศของ Climate Analytics กล่าวว่า “ความร้อนที่ทำลายสถิติในปีนี้ในประเทศไทย จีน และเอเชียใต้ เป็นแนวโน้มสภาพภูมิอากาศที่ชัดเจน และจะก่อให้เกิดความท้าทายด้านสาธารณสุขในอีกหลายปีข้างหน้า”
ข่าวร้ายของเรื่องนี้คือ ปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ มีแนวโน้มที่จะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง โดยปกติแล้วปรากฏการณ์เอลนีโญมักทำให้เกิดอุณหภูมิที่ทำลายสถิติโลก
ก่อนหน้านี้ ปีที่ร้อนที่สุดในโลกเป็นประวัติการณ์คือปี 2016 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง
ศ.ฟรีเดอริเก ออตโต อาจารย์อาวุโสของสถาบันแกรนแธมแห่งอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน กล่าวว่า “หากเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ มีโอกาสสูงที่ปี 2023 จะร้อนกว่าปี 2016 โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าโลกร้อนขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมนุษย์ยังคงเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล”
เรียบเรียงจาก Straits Times
ภาพจาก AFPคำพูดจาก เว็บสล็อต ดีที่สุดในไทย